ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)

เข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนสูงอายุและคนอ้วน มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการปวดทรมาน เดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุด อันตรายร้ายแรงมักเกิดจากการใช้ยาอย่างผิดๆ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

ความชุก

โรคนี้พบได้บ่อย เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และจะพบมากขึ้นตามอายุ ผู้หญิงจะมีโอกาสปวดเข่าจากโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย คนอ้วน คนที่ใช้งานข้อเข่ามาก มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น

อาการ

ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมอาจมีอาการผิดปกติที่เข่าข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้ อาการที่พบบ่อยก็คือ อาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อเข่า รู้สึกขัดยอกในข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินขึ้นลงบันได หรือเวลานั่งงอเข่านานๆ เวลาขยับหรือเคลื่อนไหวข้อเข่า จะมีเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่า มักจะเกิดจากการเสียดสีของผิวข้อต่อที่ขรุขระ และจะมีการสะดุดหรือติดขัดในข้อ เนื่องจากเศษกระดูกงอกหักหลุดเข้าไปขัดขวางในข้อต่อ ผู้ที่มีกล้ามเนื้อรอบๆ เข่าอ่อนแรง ก็จะมีอาการเข่าอ่อน เข่าทรุด บางครั้งอาจทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มได้ เมื่อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการขาโก่ง เดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นข้างยาวข้าง (ลงน้ำหนักไม่เต็มที่ หรือเอนตัวเพราะเจ็บเข่าข้างหนึ่ง) บางคนเดินกะเผลกหรือโยนตัวเอนไปมา บางคนอาจงอเหยียดเข่าลำบาก หรือกล้ามเนื้อขาลีบลง ในรายที่มีข้อเข่าอักเสบมาก นอกจากปวดเข่ารุนแรงแล้ว ยังมีอาการบวมของข้อเข่าร่วมด้วย เนื่องมาจากข้อมีการผลิตน้ำในข้อมากขึ้นกว่าปกติ

การดำเนินโรค

โรคนี้มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ยกเว้นในรายที่รักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม อาการจะหายดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายหลังการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน

โรคเข่าเสื่อมมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากในรายที่เป็นมาก อาจเดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุดหกล้มได้ อันตรายมักเกิดจากการใช้ยาพร่ำเพรื่อหรือใช้ยาอย่างผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์มากินเอง ซึ่งเมื่อกินยานี้ติดต่อกันนานๆ (เพราะช่วยให้หายจากการปวดชะงัด) ก็จะได้รับพิษภัยจากยาสเตียรอยด์จนเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ภาวะต่อมหมวกไตฝ่อ, ภาวะติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น

การแยกโรค อาการปวดเข่า เข่าอักเสบ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

1. กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเข่าอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บ โดยเฉพาะจากการวิ่งออกกำลังกายหรือ ปั่นจักรยานที่ไม่ถูกหลัก มักพบในคนทุกวัย และเป็นอยู่ไม่นาน เมื่อได้รับการรักษาก็จะหายขาดได้
2. เกาต์ มักจะปวดรุนแรง และข้อมีลักษณะบวมแดงร้อน ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกิน อาหารที่ให้สารยูริกสูง บางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย หากสงสัยควรเจาะเลือดตรวจดูระดับยูริกในเลือด ซึ่งจะพบว่าสูงผิดปกติ
3. ไข้รูมาติก พบมากในเด็กอายุ 5-15 ปี จะมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน มีไข้ร่วมด้วย บางคน อาจมีประวัติเป็นไข้และเจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) ก่อนปวดข้อ 1-4 สัปดาห์ หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์

สาเหตุ

เกิดจากการเสื่อมชำรุดหรือการสึกหรอของข้อเข่า ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานมาก การบาดเจ็บ หรือมีแรงกระทบกระแทกต่อข้อมาก (เช่น น้ำหนักมาก เล่นกีฬาหนักๆ) ทำให้กระดูกอ่อนที่บุอยู่ตรงบริเวณผิวข้อต่อสึกหรอ และเกิดกระบวนการซ่อมแซมทำให้มีปุ่มกระดูกงอกรอบๆ ข้อต่อ ปุ่มกระดูกที่งอกบางส่วนจะหักหลุดเข้าไปในข้อต่อ ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อต่อและข้อต่อมีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหว การงอเข่าเช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ การเดินขึ้นลงบันได เป็นต้น จะทำให้เกิดแรง กดดันที่ข้อต่อ เป็นเหตุให้ผิวข้อเสื่อมได้เช่นกัน เมื่อข้อเข่าเสื่อม ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่ามีการอักเสบและอ่อนแอร่วมไปด้วย ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าอ่อน (เข่าทรุด) และเมื่อเป็นมากๆก็จะทำให้เกิดอาการขาโก่ง โรคเข่าเสื่อม จึงพบมากในคนสูงอายุ (มักพบในผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป) คนอ้วน คนที่เล่นกีฬาที่มีการกระแทกของข้อเข่ารุนแรง คนที่ชอบนั่งงอเข่า หรือต้องเดินขึ้นลงบันไดบ่อย

การรักษา

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ในบางรายอาจต้องทำการเอกซเรย์ เมื่อพบว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า รวมทั้งการนั่งซักผ้า การนั่งส้วมยองๆ (ควรหันมาใช้ส้วมชักโครกแทน หรือใช้เก้าอี้เจาะช่องตรงกลางนั่งคร่อมบนส้วมซึม) การเดินขึ้นลงบันได การลดน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การบริหารกล้ามเนื้อเข่า การใช้ไม้เท้าช่วยเดิน การสร้างราวเกาะป้องกันการหกล้ม เพราะเข่าอ่อน เข่าทรุด ส่วนยา ถ้าปวดเข่าไม่มาก แพทย์อาจให้กินยาพาราเซตามอล (เพราะไม่มีผลต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะ) ถ้าเป็นมากอาจให้ยาบรรเทาปวดชนิดแรง เช่น ทรามาดอล (tramadol) กินบรรเทาเป็นครั้งคราว หรืออาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ยานี้นอกจากบรรเทาปวดแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบของข้อและกล้ามเนื้อ แต่มีข้อเสีย คือ กินติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ยานี้กินติดต่อกันนานๆ แพทย์อาจให้ยาป้องกันโรคแผลในกระเพาะ (เช่น รานิทิดีน, โอมีพราโซล) กินร่วมด้วย ในบางรายแพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ตัวใหม่ (เช่น เซเลค็อกซิบ) ยานี้มีข้อดีคือมีผลต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะต่ำ ข้อเสียคือราคาแพง และถ้ากินติดต่อกันนานๆ อาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ จึงต้องระวังไม่ใช้ในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ ในบางรายแพทย์อาจใช้วิธีฝังเข็มบรรเทาปวด และอักเสบแทนยาเป็นครั้งคราว ในรายที่มีข้อเข่าอักเสบรุนแรง แพทย์อาจฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบ สามารถฉีดซ้ำได้ทุก 4-6 เดือน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคข้อเสื่อมมักจะเป็นเรื้อรัง การรักษาดังกล่าวก็เป็นเพียงแต่บรรเทาอาการเป็นครั้งคราว ดังนั้น ผู้ป่วยควรเน้นการปฏิบัติตัวอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลดการใช้ยาลงและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาได้ ในรายที่เป็นมาก เช่น เดินไม่ถนัด ขาโก่ง ปวดทรมาน แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี วิธีที่ได้ผลดีแต่ค่าใช้จ่ายแพงก็คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีนี้แก่ผู้ป่วยเป็นรายๆ

การวินิจฉัย

แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ได้แก่ อาการปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหวข้อเข่า ข้อเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว ซึ่งพบในคนสูงอายุ หรือคนอ้วน ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องเอกซเรย์ข้อเข่าจะพบลักษณะเสื่อมของข้อเข่า

การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการปวดเข่าให้ดูแลตัวเองเบื้องต้น ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้ปวดเข่าได้แก่ การนั่งงอเข่า เช่น นั่งยองๆ นั่งสมาธิ นั่งพับเพียบ เป็นต้น ควรนั่งเก้าอี้ แทนการนั่งพื้น
2. หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันได ถ้าปวดเข่าข้างเดียว เวลาเดินขึ้นบันได ให้เดินขึ้นทีละขั้น โดยก้าวขาข้างดีที่ไม่ปวดขึ้นก่อน แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามไปวางบนขั้นที่ขาดีวางอยู่ (อย่าก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง) ส่วนขาลงบันได ก็ก้าวขาข้างที่ปวดลงก่อน แล้วก้าวขาดีตาม การเดินขึ้น-ลงบันไดทีละขั้นแบบนี้ ขาข้างที่ปวด จะไม่มีการงอเข่า จึงลดการปวดลงได้
3. ควรเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน และจากยืนเป็นนั่งสลับก่อนบ่อยๆ เข้าจะได้ไม่ติดขัดมาก
4. ถ้าปวดเข่ามากประคบด้วยผ้าชุบน้ำร้อน หรือลูกประคบและกินยาพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด บรรเทาปวด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
5. ถ้าเดินแล้วรู้สึกปวดเข่า หรือเข่าทรุด ควรใช้ไม้เท้าช่วยหรือมีราวเกาะ
6. ถ้าน้ำหนักมากควรหาทางลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น (เช่น เดินเร็ว ปั่น จักรยาน วิ่งเหยาะๆ)
7. เมื่ออาการปวดเข่าทุเลาแล้วควรบริหารกล้ามเนื้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ เริ่มแรกไม่ต้องถ่วงน้ำหนัก ต่อไปค่อยๆ ถ่วงน้ำหนัก (เช่น ใส่ถุงทราย หรือขวดน้ำใส่ในถุงพลาสติก) ที่ปลายเท้า เริ่มจาก 0.3 กิโลกรัม เป็น 0.5 กิโลกรัม, 0.7 กิโลกรัม และ 1 กิโลกรัม โดยเพิ่มไปเรื่อยๆ ทุก 2-3 สัปดาห์ จนยกได้ 2-3 กิโลกรัม ข้อเข่าก็จะแข็งแรง และลดอาการปวด
8. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด หรือยาลูกกลอน ยาเหล่านี้แม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาปวดได้ดีแต่มักมีตัวยาอันตราย (เช่น สตีรอยด์) ผสม ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมาได้

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

เป็นการผ่าตัดเพื่อนำผิวข้อเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพออก และทดแทนผิวข้อใหม่ด้วยข้อเข่าเทียม ภาพแสดงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพื่อทดแทนผิวข้อเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมพิจารณาทำเมื่อ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ ผ่าตัด (การใช้ยา การทำกายภาพบำบัดและการปรับเปลี่ยนการใช้งานข้อเข่า) อย่างเต็มที่แล้วยังให้ผลการรักษาที่ไม่ดี โดยยังมีลักษณะต่อไปนี้อยู่

• ยังมีอาการปวดที่รุนแรงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ปกติ เช่น ยืน/เดินลำบาก ลุกนั่งลำบาก จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินตลอด
• มีการผิดรูปของข้อเข่า เช่น เข่าโกงเข้าในหรือโก่งออกนอกอย่างมาก
• ข้อเข่ายึด พิสัยการเคลื่อนไหวข้อเข่าลดลง งอและเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม
• จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดอาการปวดทุกวัน หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาจนทำให้ไม่สามารถใช้ยาได้