ต้อกระจก (Cataract)

ต้อกระจก เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา (lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสคล้ายกระจกใส เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปตกกระทบที่จอตา (retina) ที่ทำหน้าที่รับภาพ ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟางและมองไม่เห็นในที่สุด ต้อกระจก เป็นโรคที่พบบ่อยสำหรับผู้สูงอายุ หากปล่อยไว้ไม่ผ่าตัดก็จะทำให้ตาบอด นับว่าเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของภาวะสายตาพิการของผู้สูงอายุ

ความชุก

โรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปจะเป็นต้อกระจกเป็นส่วนใหญ่)

อาการ

ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อยๆ มัวลงเรื่อยๆ ทีละน้อย โดยในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ก็จะมองไม่เห็น สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุในระยะแรก แก้วตามักจะขุ่นขาวเฉพาะบริเวณตรงกลาง เมื่อมองในที่มืดรูม่านตาจะขยาย เปิดทางให้แสงผ่านเข้าแก้วตาส่วนรอบนอกที่ยังใสเป็นปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัด แต่เมื่อมองในที่สว่างรูม่านตาจะหดเล็กลง แสงสว่างจะผ่านเฉพาะแก้วตาส่วนตรงกลางที่ขุ่นขาวทำให้พร่ามัว

การดำเนินโรค

ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา สายตาจะพร่ามัวลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็น (ตาบอด) และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา ถ้าได้รับการผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเจนเช่นคนหนุ่มสาว ตาข้างที่ผ่าตัดแล้วจะไม่เป็นต้อกระจกซ้ำอีก ถ้าหลังผ่าตัดแล้ว ตาข้างที่ผ่ามีอาการตามัวอีกก็มักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท ในบางรายแก้วตาอาจบวม หรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นจนกลายเป็นต้อหินได้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง

การแยกโรค

อาการตามัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
• ต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตารุนแรง ตาแดงและพร่ามัวข้างหนึ่ง เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
• ม่านตาอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง และตาพร่ามัวข้างหนึ่ง คล้ายต้อหินเฉียบพลัน
• แผลกระจกตา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล ตาฝ้าฟาง มักเกิดขึ้นหลังได้รับบาดเจ็บ (เช่น ถูกใบหญ้า ใบไม้บาดตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา)
• ต้อหินเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงทีละน้อยเป็นแรมปี ต้องคอยเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น ผู้ป่วยจะมีลานสายตาแคบลงกว่าเดิม คือ มองไม่เห็นด้านข้างๆ อาจขับรถลำบาก (เพราะมองไม่เห็นรถอยู่ทางซ้ายและขวา) ขับชนกำแพง ต้นไม้ หรือสิ่งกีดขวาง เวลาเดินอาจชนขอบโต๊ะ ขอบเตียง (เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง)
• จอตาเสื่อมตามวัย พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจสังเกตว่าเวลาอ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต หรือต้องมองใกล้ๆ จำเป็นต้องอาศัยแสงที่สว่างมากขึ้น สายตามักจะไม่ดีเมื่ออยู่ในที่สลัว มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน จำหน้าคนไม่ได้
• จอตาเสื่อมจากเบาหวาน (เบาหวานขึ้นตา) ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นเบาหวานมานาน ต่อมามีอาการตามัวเรื้อรัง
• สายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว ผู้ป่วยจะมองเห็นภาพพร่ามัว เมื่อมองไกล (สายตาสั้น) หรือมองใกล้ (สายตายาว สายตาผู้สูงอายุ)

สาเหตุ

1. ส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)
2. ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
• เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งจะพบในทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด
• เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง
• เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน
• เกิดจากยา เช่น การใช้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยด์ หรือกินสตีรอยด์นานๆ การใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด เป็นต้น
• เกิดจากการถูกรังสีที่บริเวณตานานๆ (เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อยๆ) หรือถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้
• ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือโรคผื่นแพ้กรรมพันธุ์ ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้
• ภาวะขาดอาหาร การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ

การรักษา

เป็นการผ่าตัดเพื่อเอา lens ที่ขุ่นมัวออก ปัจจุบันมักจะใส่เลนส์เทียม (intraocular lens) เข้าไปแทนที่ ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้ดี โดยที่มีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ปัจจุบันมีวิธีผ่าตัดต้อกระจกหลายวิธี ได้แก่

1. Intracapsular cataract extraction (ICCE)
เป็นการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตา (lens) และถุงหุ้ม (lens capsule) ออกพร้อมกัน ทำให้ใส่เลนส์ทดแทน (intraocular lens) เข้าไปแทนได้ลำบาก จึงไม่เป็นที่นิยม การเปิดแผลยาวประมาณ 10 ม.ม.ตรงบริเวณตาขาวต่อตาดำ เพื่อให้สามารถเอาแก้วตาออกทั้งชิ้น แล้วใช้เครื่องมือหยิบแก้วตาออกมา (ทั้งชิ้น) ซึ่งแน่นอน หลังเอาแก้วตาออกแล้ว ต้องเย็บแผลอย่างน้อย 7 - 10 เข็ม วิธีนี้จะทำเมื่อเนื้อเยื่อยึดแก้วตาฉีกขาดหรืออ่อนแอแล้ว

2. Extracapsular cataract extraction (ECCE)
เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อแก้วตา (lens nucleus และ lens material อื่นๆ) ออกมาจากตา โดยใช้เครื่องมือฉีกปลอกหุ้มแก้วตาออก เหลือปลอกหุ้ทแก้วตาไว้สำหรับใส่เลนส์เทียม (intraocular lens) เข้าไปแทนที่ โดยขนาดความกว้างแผลประมาณ 10 มม. จึงจำเป็นต้องเย็บแผล

3. Manual phacofragment
เป็นการผ่าตัดเช่นเดียวกับ ECCE แต่จะใช้เครื่องมือง่ายๆ แบ่งเนื้อแก้วตาออกเป็นชิ้นเล็กๆ 2-4 ชิ้น แล้วค่อยเอาออกจากตา จึงไม่จำเป็นต้องเปิดแผลกว้างนัก

4. Phacoemulsification
เป็นการผ่าตัดโดยใช้คลื่นความถี่สูง (ultrasound) ช่วย ทำให้เนื้อเลนส์แก้วตาแยกเป็นชิ้นเล็กๆ พอที่จะดูดผ่านเครื่องมือขนาดเล็กได้ โดยยังเก็บถุงหุ้มเลนส์ ไว้เพื่อใส่เลนส์เทียมได้ ทำให้สามารถทำได้โดยผ่านแผลขนาดเล็กประมาณ 3-4 มม. และไม่จำเป็นต้องเย็บแผล

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจพบแก้วตา (เลนส์ตา) ขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่องตาผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า การใช้เครื่องส่องตา (ophthalmoscope) ตรวจตาจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (red reflex) หากไม่แน่ใจ แพทย์ต้องใช้เครื่องมือพิเศษตรวจอย่างละเอียด อาจจำเป็นต้องตรวจวัดความดันลูกตา (เพื่อแยกออกจากโรคต้อหินที่จะพบความดันลูกตาสูงกว่าปกติ) และตรวจพิเศษอื่นๆ

การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการตามัว ตาพร่า สายตาฝ้าฟาง หรือมองเห็นภาพผิดจากปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดตา หรือตาแดงร่วมด้วย ก็ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น ต้อหินเฉียบพลัน แผลกระจกตา เป็นต้น หากตรวจพบว่าเป็นต้อกระจก ก็ควรจะทำการผ่าตัดตามที่แพทย์นัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้

• เย็นวันผ่าตัด ควรนอนพักให้มากที่สุด และลุกขึ้นเดินเท่าที่จำเป็น (เช่น เข้าห้องน้ำ) วันถัดหลังจากนั้นไป ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การไอหรือจามแรงๆ การยกของหนักหรือกระเทือนมาก นานประมาณ 2-3 สัปดาห์

• ห้ามให้น้ำเข้าตาประมาณ 4 สัปดาห์ ควรใช้วิธีเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า

• ห้ามขยี้ตาข้างที่ผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์ ควรใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอน เพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตา) ในเวลากลางวันอาจใส่แว่นตาแทนที่ครอบตาก็ได้

• ไปพบแพทย์ตามนัด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงมากขึ้น ปวดตามาก เผลอขยี้ตา หรือตาข้างที่ผ่าเคยชัดกลับมัวลงอีก ควรไปพบแพทย์ทันที